อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เริ่มขับเคลื่อน ภายในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 หลังวิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยคาดว่าจะยังคงเป็นปีทองของรถยนต์อเนกประสงค์ ด้วยทางเลือกที่หลากหลายจากแต่ละแบรนด์ รวมถึงตลาดรถกระบะที่จะกลับมาขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นอีกครั้ง หวังเก็บเกี่ยวยอดขายชดเชยช่วงเวลาที่เศรษฐกิจต้องชะงักไปในครึ่งปีแรก
จากวิกฤติโควิด-19
ที่เข้าสู่ประเทศไทย นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมเป็นต้นมา
ก่อนที่ภาครัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงล็อกดาวน์และห้ามออกนอกเคหสถาน
(เคอร์ฟิว) โดยหวังที่จะควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อร้าย ทว่า มาตรการดังกล่าวกลับส่งผลให้การใช้ชีวิตต้องเปลี่ยนไป
และสภาพเศรษฐกิจของประเทศก็ต้องหยุดชะงักอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน
รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่โดนเล่นงานอย่างหนักด้วยเช่นกัน
ทั้งในเรื่องของยอดขาย รวมถึงแผนการดำเนินธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ด้วยเช่นกัน
การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นทางเลือกที่เราได้เห็นในช่วงวิกฤติ
รวมไปถึงงานขายและบริการต่างๆ ที่ส่งตรงถึงผู้บริโภค โดยไม่ต้องเดินเข้าโชว์รูมเหมือนก่อน
ขอเพียงแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต
เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
การขยับตัวจากบรดาค่ายผู้ผลิตก็เริ่มมีให้เห็นเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
โดยไฮไลต์ยังคงอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ ควรจะเปิดตัวและเก็บเกี่ยวยอดขายในงานบางกอก
อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 ไปเป็นที่เรียบร้อย
หากอยู่ในห้วงเวลาปกติ ทว่า ในปีนี้ต้องยืดไปเป็นช่วงกลางเดือนกรกฎาคม
ไล่เรียงดูนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก่อนที่โควิด-19 จะเข้ามาเป็นประเด็นหลักในสังคม ความเคลื่อนไหวในตลาดรถยนต์ออกสตาร์ตตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม
ด้วยค่ายรถหรู อย่าง บีเอ็มดับเบิลยู ที่ส่ง บีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 7 ลงทำตลาด ตามด้วย เมอร์เซเดส-เบนซ์
ที่เสริมไลน์อัปในช่วงปลายเดือนทีเดียว 3 รุ่นได้แก่ C200
Coupe AMG Dynamic, E200 Coupe AMG Dynamic และ E300
Cabriolet AMG Dynamic
หลังจากนั้นเป็นคิวของอีซูซุ ที่ประเดิมเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยรถอเนกประสงค์ประจำค่าย
อย่าง มิว-เอ็กซ์ นิว ออนิคซ์ รวมถึง มินิ คูเปอร์
เอสอี รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% คันแรกจากมินิ และบีเอ็มดับเบิลยู
218i Gran Coupe M Sport, บีเอ็มดับเบิลยู 330e M
Sport และบีเอ็มดับเบิลยู 320d M Sport
ในช่วงปลายเดือนที่ 2 ของปี
ก่อนที่ซูซูกิ จะเปิดตัว นิว ซูซูกิ เซียส
หวังชิงยอดตลาดอีโคคาร์ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ขณะที่มาสด้าเติมเต็มไลน์อัปรถอเนกประสงค์ด้วย
มาสด้า ซีเอ็กซ์-30 รวมถึงการขยับตัวของมิตซูบิชิ
ในช่วงกลางเดือน ที่มาพร้อม มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส ด้านเอ็มจี
เพิ่มความสดใหม่ด้วย เอ็มจี แซดเอส และส่งท้ายเดือนด้วย บีเอ็มดับเบิลยู X6
xDrive30d M Sport, M8 Competition Coupe และ 630i GT M Sport
ทว่า ในเดือนถัดมา มีเพียงซูบารุที่เสริมทัพด้วย ซูบารุ
ฟอเรสเตอร์ จีที รวมถึงโตโยต้า ที่เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคด้วยรุ่นพิเศษ อย่าง
โตโยต้า ซี-เอชอาร์ บาย คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ และมินิ
จอห์น คูเปอร์ เวิร์คส์ จีพี ที่ออกมาเอาใจสาวกมินิ ในจำนวนจำกัดเพียง 30 คันในประเทศไทย จากจำนวนทั้งสิ้น 3,000 คัน ที่ออกวางจำหน่ายทั่วโลก
ตลาดรถยนต์กลับมาคึกคักอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม
เริ่มจากการขยับตัวของมาสด้า ที่มาพร้อม มาสด้า เอ็มเอ็กซ์-5 อาร์เอฟ ใหม่ ตามด้วยฮอนด้า ที่นำเสนอสีใหม่สำหรับตัวขาย อย่าง ฮอนด้า
ซีวิค เทอร์โบ อาร์เอส ขณะที่นิสสัน เรียกน้ำย่อยด้วย นิสสัน โน๊ต เอ็น-สปอร์ต ก่อนจะเขย่าตลาดด้วย นิสสัน คิกส์ อี-เพาเวอร์
ในช่วงกลางเดือน ปิดท้ายด้วย บีเอ็มดับเบิลยู X4 xDrive20d M Sport X
ล่าสุดเป็นคิวของพี่ใหญ่ อย่าง โตโยต้า ที่ตอกย้ำบทบาทเจ้าตลาดด้วยรถกระบะ
โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ และรถอเนกประสงค์ อย่าง โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากการพัฒนาของทีมวิศวกรชาวไทย
และเป็นเหมือนสัญญาณเริ่มต้นของตลาดรถยนต์ หลังภาวะวิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี สอดคล้องกับการผ่อนปรนมาตรการเข้มจากภาครัฐบาลที่ไล่เรียงปลดล็อกมาเป็นลำดับ
และเชื่อได้ว่า งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์
จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยอย่างแท้จริง
ถึงแม้ว่าช่วงเวลาอาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง ทว่า ยังคงไว้ซึ่งความสำคัญของงานแสดงยนตรกรรมมาตรฐานระดับนานาชาติ
หนึ่งเดียวในภูมิภาค ฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ให้ก้าวฝ่าวิกฤติโควิด-19
ไปให้ได้ไกลที่สุด
อย่างไรก็ดี บรรยากาศภายในงานอาจจะแปลกตาไปบ้าง
เนื่องด้วยมาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ ส่งผลให้ความคึกคักและความหนาแน่นไม่เป็นเหมือนที่ผ่านมา
ทว่า ความหลากหลายของรถยนต์รุ่นใหม่ๆ รวมถึงข้อเสนอพิเศษต่างๆ
ที่บรรดาค่ายรถจะใช้เก็บเกี่ยวยอดขายภายในงาน
จะเป็นตัวกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
และสร้างรอยยิ้มให้กับค่ายผู้ผลิตได้บ้าง หลังผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่
โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงเป็นปีทองของรถยนต์อเนกประสงค์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เห็นได้จากการเติมไลน์อัปในเซ็กเมนต์ดังกล่าวของแต่ละค่าย และน่าจะถึงช่วงเวลาของ
อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ ใหม่ ที่จะถูกส่งลงทำตลาด
หลังการเปิดตัวของ อีซูซุ ดีแมคซ์ ในช่วงปลายปีก่อนหน้านี้ เพื่อแย่งชิงยอดขายกับคู่แข่งที่เปิดตัวแบบแพ็กคู่ไปดังที่กล่าวในพารากราฟข้างต้น
ซูซูกิ เอ็กซ์แอล7 เป็นรถอีกหนึ่งรุ่นที่คาดว่าจะถูกส่งลงทำตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง
ซึ่งเป็นการเติมเต็มไลน์อัปรถยนต์อเนกประสงค์ของซูซูกิในประเทศไทย
สานต่อความสำเร็จของ ซูซูกิ เออร์ติก้า และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ด้วยรูปโฉมและสมรรถนะในสไตล์ครอสโอเวอร์
เอสยูวี ที่มีตัวเลือกในตลาดประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับความนิยมของผู้บริโภคในเซ็กเมนต์ดังกล่าว
รวมถึงรถกระบะค่ายมาสด้า ที่จะเข้ามาเติมความเข้มข้นและร้อนแรงให้กับตลาดรถกระบะ ซึ่งเป็นผลผลิตที่ออกมาจากโรงงานของอีซูซุ โดยมีพื้นฐานเดียวกันกับ อีซูซุ ดีแมคซ์ ทว่า แตกต่างในเรื่องของรูปโฉม ด้วยภาพลักษณ์อันโดดเด่นและสะดุดตาของยานยนต์ค่ายมาสด้า ที่เดินไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้โคโดะดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ ส่วนจะเป็นช่วงเวลาใดนั้น คงไม่นานอย่างแน่นอน
มองจากทิศทางคร่าวๆ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แน่นอนว่า ความคึกคักต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หลังการปรับแผนดำเนินธุรกิจของแต่ละค่าย โดยหวังเรียกยอดขายชดเชยกับช่วงเวลาที่เว้นวรรคไป เริ่มจาก งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ไล่เรียงไปจนถึง งานบิ๊ก มอเตอร์ เซล แม้จะไม่สามารถกอบโกยได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็น่าจะช่วยต่อลมหายใจได้ หลังบาดเจ็บจากพิษโควิด-19 ส่วนยอดขายจะก้าวเดินไปได้ไกลแค่ไหน น่าจะพอวัดได้จากงานใหญ่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้